ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารทั้งทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว รวมไปถึงคอนโดมิเนียม มาใช้เป็นโครงสร้างสร้างแบบหล่อสำเร็จ เพื่อให้ก่อสร้างได้ทันตามความต้องการ ซึ่งในแนวโน้มการใช้งาน คาดว่าโครงสร้างคอนกรีตหล่อสำเร็จจะมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น ผมจึงอยากพูดถึงข้อดีและข้อเสียของโครงสร้างดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกซื้ออาคาร ดังนี้
1. อาคารที่ใช้โครงสร้างหลัก เช่น เสา, คาน และพื้นเป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป ส่วนของผนังหรือส่วนของประกอบอื่น ๆ คงใช้การก่ออิฐหรือมวลเบาตามรูปแบบเดิม การก่อสร้างแบบนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ มีรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากอาคารที่ก่อสร้างด้วยวิธีหล่อที่หน้างาน
ข้อดี
- โครงสร้างผลิตจากโรงงานผลิต จะมีคุณภาพที่ดีกว่าการหล่อในที่
- ลดปัญหาผลกระทบในขณะการก่อสร้าง เพราะใช้เวลาติดตั้งไม่นาน
- รูปแบบอาคารจะไม่ต่างจากรูปแบบที่เจ้าของบ้านคุ้นเคย สามารถปรับปรุงต่อเติมได้โดยไม่ต้องใช้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ
ข้อเสีย
- ราคาจะแพงกว่าการหล่อในที่ เนื่องจากต้องมีการออกแบบโครงสร้างใหม่ เพื่อผลิตเป็นชิ้นส่วนสำเร็จ และต้องมีค่าขนส่งและติดตั้งชิ้นส่วน
- จุดต่อของชิ้นส่วนโครงสร้างสำเร็จรูป ต้องมีการออกแบบและติดตั้งโดยช่างผู้ชำนาญงาน
2. อาคารที่ใช้โครงสร้างแบบผนังคอนกรีตสำเร็จรูปรับน้ำหนัก จะออกแบบให้รวมโครงสร้างรับแรงกับผนังอาคาร ส่วนของพื้นออกแบบเป็นชิ้นส่วนวางบนผนังอีกที โดยออกแบบเป็นชิ้นส่วนย่อย ๆ แล้วนำมาประกอบที่หน้างาน
ข้อดี
- ชิ้นส่วนผนังและพื้นรับน้ำหนักสำเร็จรูป ผลิตจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ดังนั้น ปัญหาการแตกร้าวจะน้อยมาก
- เนื่องจากโครงสร้างเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก ดังนั้นจะไม่มีเสายื่นออกจากผนัง ทำให้ได้พื้นที่ใช้สอย และตกแต่งภายในได้ค่อนข้างดี
- พื้นออกแบบเป็นพื้นสำเร็จ ถ่ายน้ำหนักลงผนัง ทำให้ไม่ต้องมีคาน ดังนั้น จะทำให้ได้ความสูงของบ้านมากขึ้น
ข้อเสีย
- เนื่องจากโครงสร้างผนังรับน้ำหนักต้องผลิตในจำนวนมาก ๆ จึงจะคุ้มค่าในการผลิต จึงมักจะใช้กับโครงการบ้านจัดสรร ดังนั้น ไม่เหมาะสำหรับอาคารบ้านพักทั่วไป
- การก่อสร้างจะมีรอยต่อจำนวนมากของผนัง ทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาการรั่วค่อนข้างมากหากติดตั้งไม่ดี
- การเจาะเปิดช่องหรือตัดผนังบางด้านออก ทำได้ยากมาก แนะนำว่าไม่ควรทำหากไม่มีวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการให้
สรุปได้ว่า บ้านโครงสร้างสำเร็จรูปนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ท่านเจ้าของบ้านต้องศึกษาและตรวจสอบความต้องการของตัวเองว่าจะต้องมีการแก้ไขต่อเติมอาคารมากน้อยเพียงใด
ขอบคุณที่มาของบทความและรูปภาพ :
คุณ สมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข
จากเว็บไซต์ http://www.engineeringclinic.org