หน้าหลัก > คำถามที่พบบ่อย > การซ่อมแซมโครงสร้างบ้าน
การซ่อมแซมโครงสร้างบ้าน
เขียนโดย dfineconsultant เมื่อ Fri 23 Jun, 2017

เมื่อบ้านของท่านเกิดปัญหาแตกร้าว ผนังร้าวเป็นสายงา ท้องพื้นมีรอยแตกเป็นแนวยาว ปกติท่านจะทำอย่างไรครับ บางคนปรึกษาข้างบ้าน, ตามช่างแถวบ้านมาดู หรือแม้จะโทรมาถามที่ วสท. คำตอบที่ได้บางครั้งก็ไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติ บางท่านเกิดวิตกจริตจนนอนไม่หลับ จึงอยากเรียนว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ครับ แต่ต้องใช้ให้ถูกคนนะครับ บางครั้งยิ่งแก้ก็ยิ่งพัง ผมพยายามจะให้ความรู้เป็นแนวทางกับท่านว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เป็นปัญหาใหญ่หรือไม่ และจะต้องเข้าไปแก้ไขอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นสอนให้ท่านเป็นผู้รับเหมาแก้ไขเองได้ เพราะการซ่อมแซมโครงสร้างจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและวัสดุพิเศษในการซ่อม และในบางกรณีค่อนข้างอันตรายที่จะซ่อมแซมเอง หากเกิดปัญหากับโครงสร้างหลักของบ้าน

โครงสร้างบ้าน หมายถึงโครงหลักที่เป็นแกนในการรับน้ำหนักของบ้านทั้งหมด จะเห็นภาพได้ชัดเจนเมื่อก่อนที่จะทำการก่อผนังและมุงหลังคา จะเห็นว่าช่างจะก่อสร้างฐานรากเสา, คาน, พื้น และโครงหลังคาเหล็กให้เสร็จก่อน ซึ่งเรียกว่าโครงสร้างบ้าน ก่อนที่จะทำการก่ออิฐ, ปูกระเบื้อง หรือมุงหลังคา ซึ่งเราจะเรียกว่าส่วนงานสถาปัตยกรรม ซึ่งงานสถาปัตยกรรมนี้มักไม่มีผลโดยตรงให้อาคารมีความแข็งแรงขึ้น ผิดกับโครงสร้างอาคาร หากก่อสร้างได้ไม่ดี ก็จะทำให้ทั้งโครงสร้างบ้านและส่วนงานสถาปัตยกรรมเสียหายได้

หลักการที่สำคัญในการซ่อมแซมโครงสร้าง คือ จะต้องทราบต้นเหตุที่ทำให้โครงสร้างเสียหายเสียก่อน แล้วกลับไปแก้ไขต้นเหตุ จึงจะกลับมาซ่อมโครงสร้างที่เสียหาย เพราะหากซ่อมไปโดยไม่ทราบว่าเกิดจากอะไรก็จะไม่สามารถหายขาดได้ โดยขอยกตัวอย่างปัญหาและการซ่อมแซมที่มักพบอยู่บ่อย ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างดังนี้

1. พื้นที่จอดรถทรุดตัว มักจะเกิดกับโครงการบ้านจัดสรรและเป็นในช่วงปีแรก ๆ ในการเข้าอยู่ หากเป็นหมู่บ้านเก่ากรณีนี้จะน้อยลง สาเหตุที่พื้นจอดรถมักจะทรุดตัวก็เนื่องจากบริเวณที่จอดรถมักจะออกแบบเป็นพื้นแบบวางกับดิน และบริเวณดังกล่าวมักจะบดอัดได้ไม่ดี หรือบางโครงการก็เพียงถมทรายแล้วใช้เครื่องตบทรายขนาดเล็ก แล้วเทคอนกรีตพื้นทับเลย สาเหตุที่มักจะเป็นกับโครงการหมู่บ้านใหม่ก็เพราะปกติจะต้องถมดินเพื่อยกระดับของบ้านในโครงการ เมื่อถมยิ่งสูงการทรุดตัวในช่วงต้นจะค่อนข้างมาก

ซึ่งหากปัญหาที่พบไม่มากนักคือทรุดตัวไม่มากนั้น ก็น่าจะทำเพียงการตัดขอบของพื้นส่วนที่ก่อสร้างไปชนกับตัวบ้านให้มีความกว้างประมาณ 5 - 10 ซ.ม. แล้วโรยด้วยกรวดแม่น้ำเพื่อไม่ให้พื้นไปดึงกับส่วนของคานบ้าน

แต่หากเกิดทรุดตัวค่อนข้างมากแล้วอยากเทใหม่ แนะนำว่าควรจะทำการตอกเสาเข็มสั้นกระจายเต็มพื้นที่ เพื่อลดอัตราการทรุดตัว เสาเข็มที่ใช้อาจเป็นเสาเข็มปูนหรือไม่ก็ได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  0.15 ม. ความยาว 2 - 4 เมตร ตอกเป็นตาราง 1 เมตร x 1 เมตร

2. พื้นชั้นล่างทรุดตัวเป็นอ่างกระทะ มักจะเกิดกับตึกแถวที่ออกแบบให้พื้นชั้นล่างเป็นแบบพื้นวางกับดิน ในช่วงต้น ๆ มักจะไม่มีปัญหาเพราะดินบริเวณใต้อาคารยังอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปดินจะกดจนทรุดตัวลง หรือเกิดจากกองของค่อนข้างหนักในบริเวณดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้พื้นทรุดตัวได้มากขึ้น

การแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ หากเป็นชานพักอาศัยแนะนำว่าควรจะทุบพื้นออกแล้วบดอัดพื้นใหม่ เทพื้นใหม่อีกครั้ง ห้ามใช้วิธีถมทรายเข้าไปเพื่อปรับระดับ เพราะจะยิ่งทำให้ทรุดตัวมากขึ้นต่อไป หรือหากต้องการให้แข็งแรงขึ้น หรือต้องการกองของจำนวนมาก ควรจะทำการเพิ่มเสาเข็มสั้นคล้ายกับกรณีแรก ผูกเหล็กเสริมแล้วจึงเทคอนกรีตทับ

3. โคนเสาและกำแพงเปียกชื้นตลอดเวลาจนสีลอก พบค่อนข้างบ่อยกับอาคารที่มีมาตรฐานการก่อสร้างที่ไม่ดีนัก ลักษณะจะเหมือนกับมีความชื้นซึมจากใต้พื้นซึมผ่านมาที่เสาและผนัง ความสูง 30 - 50 ซ.ม. ซึ่งจะทำให้สีที่ทาไว้ลอกออก ไม่ว่าจะใช้สีดีแค่ไหนก็ไม่อยู่ ส่วนของเสามีบางครั้งอาจจะทำให้เหล็กเสริมเป็นสนิม ดันคอนกรีตหุ้มเสาแตกออกมา

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวคือ บริเวณใต้พื้นก่อสร้างอาจมีน้ำขังสะสม หรืออาจจะเกิดจากบริเวณพื้นที่ด้านข้างเป็นพื้นที่ว่างที่มีน้ำขังอยู่ ทำให้มีน้ำมาสัมผัสกับผิวของอาคารตลอดเวลา ประกอบกับคุณภาพของคอนกรีตที่ใช้ไม่ดีนัก เพราะหากคุณภาพของคอนกรีตดีจะมีลักษณะแน่นไม่ซึมน้ำ กรณีดังกล่าวการแก้ไขทำได้ค่อนข้างยาก โดยหากพบว่ามีน้ำขังอยู่ด้านข้างอาคารก็ให้ทำการขุดเปิดทางน้ำเพื่อลดระดับน้ำลง แต่ในบางกรณีก็เกิดจากปัญหาท่อระบายน้ำที่ผ่านบริเวณใต้บ้านรั่วหรือหลุดออก ทำให้มีน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา ก็ให้หาวิธีระบายน้ำดังกล่าวออกและเดินท่อระบายน้ำใหม่ หลังจากนั้นก็ให้มาตรวจสอบสภาพความเสียหายของเสาและคาน หากพบว่าโคมเสามีสภาพแตกร้าวตามแนวเหล็กเสริม ให้ตรวจสอบดูว่าเป็นสนิมหรือไม่ หากพบว่าเป็นเหล็กยังอยู่ในสภาพดีแล้วให้ทำความสะอาด ทาน้ำยาเคลือบกันสนิมและประสานคอนกรีตแล้วฉาบหรือเททับด้วยซีเมนต์ชนิดพิเศษแบบไม่หดตัว หากพบว่าเหล็กเสริมมีปัญหา เป็นสนิมขุม (กินเนื้อเหล็ก) ค่อนข้างมาก จะต้องเสริมเหล็กเสริม จากนั้นเทคอนกรีตขยายขนาดเสาขึ้นมา

4. ท้องพื้นมีปัญหา เหล็กเป็นสนิมบวมตัวจนดันผิวคอนกรีตเป็นรอยร้าวตามแนวตามยาวของเหล็กเสริม มักจะพื้นบริเวณดาดฟ้าที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง หรือระบายน้ำไม่ทัน และคุณภาพของคอนกรีตที่เทไม่ดีนัก หรือเกิดบริเวณท้องพื้นห้องน้ำที่มีปัญหารั่วซึมจนคอนกรีตชุ่มน้ำตลอดเวลา จนเหล็กเสริมพื้นเป็นสนิม ก่อนการซ่อมแซมต้องเตรียมการค้ำยันพื้นด้วยไม้ หรือเหล็กให้ทั่วพื้นที่ขนย้ายของบริเวณเหนือพื้นที่จะซ่อมออกให้มากที่สุด หลังจากนั้นทำการสกัดผิวปูนฉาบและผิวคอนกรีตบริเวณแตกร้าวออกจนเห็นเหล็กเสริม ให้ตรวจ สอบว่าเหล็กมีปัญหาเป็นสนิมจนกินเนื้อเหล็กหรือไม่ หากเหล็กยังมีสภาพดีให้ทำตามเหล็กด้วยแปรง ทาน้ำยาเคลือบกันสนิมและประสานคอนกรีต แล้วฉาบทับด้วยซีเมนต์พิเศษแบบไม่หดตัว ชนิดใช้ฉาบซ่อม หลังจากนั้นจึงฉาบด้วยปูนฉาบ

แต่หากพบว่าเหล็กมีปัญหาเป็นสนิมขุมจนกินเนื้อเหล็กเสริมไปมากต้องรีบปรึกษาวิศวกร เพื่อออก แบบการเสริมความแข็งแรงโดยด่วน อาจจะต้องมีการเสริมคาน หรือเพิ่มเหล็กเสริมเพิ่ม ขึ้นกับสภาพปัญหาและความเหมาะสม

5. คานมีรอยแตกร้าวที่ท้องคานบริเวณช่วงกลางคาน สาเหตุเกิดจากการกองของหนัก เช่น ถังเก็บน้ำ ของที่มีน้ำหนักมาก ๆ บริเวณเหนือคาน การแก้ไข แน่นอนจะต้องเอาของที่มีน้ำหนักมาก ๆ ออกก่อน และทำการค้ำยันคานตลอดแนว หาวิศวกรมาดูรอยแตกร้าวว่ากว้างจนทำให้คานไม่สามารถรับน้ำหนักได้หรือไม่ ซึ่งวิศวกรจะเป็นผู้กำหนดวิธีการซ่อม โดยหากพบว่าคานยังสามารถใช้งานต่อได้ ก็จะทำการอัดฉีดน้ำยาประสานคอนกรีตเข้าไปเพื่อเชื่อมรอยแตกร้าวดังกล่าว แต่หากพบว่าคานดังกล่าวรับน้ำหนักไม่ได้แล้ว หรือต้องการทำให้คานดังกล่าวรับน้ำหนักได้มากขึ้น อาจจะทำการเสริมโครงสร้างเหล็กเพิ่มโดยยึดติดกับด้านข้างหรือท้องคาน

 

ขอบคุณที่มาของบทความและรูปภาพ : 
จากเว็บไซต์ http://www.engineeringclinic.org