หน้าหลัก > สาระน่ารู้เรื่องบ้าน > รายละเอียดขั้นตอนการเสริมฐานรากและยกปรับระดับอาคารด้วยเสาเข็ม Micro Pile
รายละเอียดขั้นตอนการเสริมฐานรากและยกปรับระดับอาคารด้วยเสาเข็ม Micro Pile
เขียนโดย dfineconsultant เมื่อ Fri 16 Jun, 2017

งานเสริมฐานรากอาคาร

ในการแก้ไขการทรุดตัวของอาคาร ด้วยวิธีการเสริมฐานราก (Underpinning) กำหนดให้มีขั้นตอนดำเนินงานดังต่อไปนี้

1.  จัดเตรียมสถานที่, ขนย้ายวัสดุ - เครื่องมือ
       1.1  จัดเตรียมสถานที่หน้างาน โดยการกั้นเขตพื้นที่ในการทำงานให้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงาน, การรักษาความปลอดภัย, การรักษาความสะอาด
       1.2  จัดเตรียม ขนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เข้าหน่วยงานให้พร้อมก่อนเริ่มดำเนินงาน
       1.3  ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา แยกจากส่วนของอาคาร

2.  งานขุดดินและขนย้ายดินออก
       ในการเสริมฐานราก (Underpinning) และยกปรับระดับอาคาร ให้ดำเนินงานอยู่ภายใต้อาคาร โดยที่ผู้อยู่อาศัยเดิมสามารถใช้งานอาคารได้ตามปกติและไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อวัสดุตกแต่งในอาคารที่ได้ติดตั้งไปแล้ว โดยในระหว่างดำเนินงานเมื่อมีการขุดดินขึ้นมามากจะต้องขนย้ายดินออกไปบางส่วนเพื่อให้มีพื้นที่ว่างในการทำงาน และป้องกันปัญหาดินพังทลาย

3.  การเสริมเสาเข็ม Micro Pile
       3.1  เตรียมเสาเข็ม Micro Pile โดยการตัดท่อเหล็กกลมกลวงเป็นท่อน ๆ ให้ได้ความยาวท่อนละประมาณ 1 เมตร ทาสีกันสนิมชนิด RED OXIDE 2 ชั้น และทำการปิดปลายท่อของเสาเข็มท่อนแรกที่ใช้ในการกดแต่ละต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ดินเข้าไปอุดอยู่ในเสาเข็ม
       3.2  ทำการติดตั้งชุดแม่แรงไฮดรอลิก สำหรับใช้ในการกดเสาเข็ม Micro Pile
       3.3 ดำเนินการเสริมเสาเข็ม Micro Pile โดยใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดเสาเข็มเหล็กทีละท่อนๆ ความยาวท่อนละประมาณ 1 เมตร จนได้ระดับความลึกที่ต้องการ (พิจารณาจากผลการทดสอบ Parallel Seismic Test)  โดยทำการต่อเสาเข็มแต่ละท่อนด้วยวิธีการเชื่อมไฟฟ้า
       3.4 กดเสาเข็ม Micro Pile จนได้ระดับความลึกที่ต้องการ ซึ่งจะสามารถทราบกำลังการรับน้ำหนักของเสาเข็มเบื้องต้นได้ทันทีจากค่าที่อ่านได้จาก Pressure Gauge โดยนำไปสอบทานกับแผนภูมิมาตรฐานที่ได้ทำการปรับค่าจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียหรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากกรณีที่กดเสาเข็มจนได้ระดับความลึกตามผลทดสอบเสาเข็มเดิม Parallel Seismic Test แล้วค่ากำลังการรับน้ำหนักของเสาเข็มยังไม่ถึง 20 ตัน ต้องแจ้งกลับมายังผู้ออกแบบเพื่อทำการแก้ไขต่อไป
       3.5   ทำการกรอกคอนกรีตเหลวลงไปในปลอกเหล็ก เพื่อป้องกันปัญหาการกัดกร่อนของสนิมเหล็กในภายหลัง

4.  งานประกอบฐานราก
       4.1  ค้ำยันเสาเข็ม Micro Pile กับโครงสร้างอาคาร
       4.2  ตัดเสาเข็มเดิมทิ้งเพื่อถ่ายน้ำหนักของอาคารไปสู่เสาเข็มใหม่
       4.3  ดำเนินการประกอบฐานรากใหม่เข้ากับเสาเข็ม Micro Pile ตามแบบซ่อมแซม

5.  การยกปรับระดับอาคาร
       5.1  ภายหลังจากทำการเสริมเสาเข็มและประกอบฐานรากเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการถ่ายน้ำหนักจากฐานรากเดิมสู่ฐานรากใหม่ทุกฐาน และเพื่อตรวจสอบว่าเสาเข็มและฐานรากใหม่สามารถรับน้ำหนักได้ตามแบบ
       5.2  ดำเนินการยกปรับระดับอาคารด้วยแม่แรงไฮดรอลิก พร้อมทำการตรวจสอบค่าระดับให้เหมาะสมกับการปรับระดับของฐานรากแต่ละฐาน

6.  ถมดินกลับคืน, เก็บงานและทำความสะอาด
       6.1  ขนดินกลับเข้ามาถมใต้อาคาร
       6.2  ซ่อมแซมรอยร้าวของอาคารให้กลับคืนสู่สภาพการใช้งานได้ตามปกติ
       6.3  เก็บงานและทำความสะอาดพื้นที่ให้เรียบร้อย